ปัญหาลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด ทำไงดี? 7 วิธีนี้ช่วยคุณแม่แก้ได้ - HotNews

ปัญหาลูกพูดช้า ไม่ยอมพูด ทำไงดี? 7 วิธีนี้ช่วยคุณแม่แก้ได้

 

สำหรับพ่อแม่ที่รู้สึกว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด อาจจะพูดช้าหรือไม่ยอมพูด ก่อนที่จะเป็นกังวลมากจนเกินไป แนะนำให้ลองใช้วิธีการแก้ปัญหาพื้นฐานที่สามารถทำได้ทันทีกันก่อนค่ะ วันนี้เราได้นำ 7 วิธีช่วยแก้ปัญหาลูกพูดช้าหรือไม่ยอมพูดมาฝากพ่อแม่ทุกท่านให้ได้นำไปปรับใช้กันแล้วดังนี้


1.ทดสอบการได้ยินของลูก
ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการได้ยินเสียก่อน เพราะเด็กหลายคนที่มีปัญหาไม่ยอมพูดออกมาเป็นคำหรือประโยค มักมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ซึ่งเป็นปัญหาที่พ่อแม่มักไม่รู้มาก่อน จนกว่าจะได้รับการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญ พ่อแม่สามารถทดสอบการได้ยินของลูกเองได้ง่ายๆ สังเกตดูว่าลูกมีปฏิกิริยาต่อเสียงหรือไม่ หากไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป


2.หมั่นพูดคุยกับลูก
การพูดคุยของพ่อแม่กับลูกมีความสำคัญและเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการที่พ่อแม่หมั่นพูดคุยกับลูก ไม่ว่าจะในรูปแบบของการถามตอบ การเล่น หรือกิจกรรมที่พ่อแม่ลูกสามารถทำร่วมกัน จะช่วยให้ลูกมีโอกาสออกเสียงและพูดได้มากขึ้น


3.สอนลูกพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ
เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกไม่ค่อยพูดหรือพูดช้ามาก แนะนำว่าอย่าเพิ่งท้อหรือหงุดหงิด แต่ควรใจเย็นๆ แล้วสอนลูกให้พูดช้าๆ พยายามให้ลูกเปล่งเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ วิธีนี้อาจจะต้องอาศัยความใจเย็นของพ่อแม่ในระดับหนึ่ง


4.เล่านิทานก่อนนอน
การเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนให้ผลดีต่อลูกทั้งในเรื่องของการฟัง การจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การจดจำ และการพูด ซึ่งหากพ่อแม่สร้างบทสนทนาในช่วงเวลานี้กับลูก โดยเอานิทานเป็นหลัก อาจจะสร้างรูปแบบการถามตอบหรือถามความเห็นลูก ก็จะช่วยให้ลูกเปล่งเสียงและพูดมากขึ้น


5.ใช้สื่อประกอบเพื่อเปิดโลกกว้าง
การใช้สื่อประกอบเพื่อเป็นการเปิดโลกกว้างให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดทีวี คอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ก็ล้วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกได้ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องอาศัยการควบคุมดูแลจากพ่อแม่ในการเสพสื่อของลูกด้วย พ่อแม่ย่อมเห็นกันมาบ้างแล้วว่าเด็กๆ มักจะเลียนแบบเสียงและพฤติกรรมจากสื่อบ่อยครั้งมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลการใช้สื่อให้ดี


6.สังเกตบุคลิกของพี่เลี้ยง
ครอบครัวใดที่มีการจ้างพี่เลี้ยงสำหรับดูแลลูกๆ พ่อแม่ควรสังเกตบุคลิกของพี่เลี้ยงด้วยว่าเป็นคนแบบไหน เนื่องจากพฤติกรรมของพี่เลี้ยงมักส่งผลต่อตัวเด็กได้เสมอ ยิ่งถ้าลูกๆ ใช้เวลาอยู่กับพี่เลี้ยงเสียส่วนใหญ่ ยิ่งต้องสังเกตพฤติกรรมให้ดี พยายามหาพี่เลี้ยงที่ใส่ใจในการพูดคุยกับเด็กๆ ไม่ควรเป็นพี่เลี้ยงที่เอาแต่พูดโดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดเลย รวมทั้งพี่เลี้ยงที่เอาแต่เงียบจนลูกไม่มีโอกาสได้พูดคุยสนทนาด้วย


7.ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น
การเปรียบเทียบลูกคนอื่นกับลูกตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ล้วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะพฤติกรรมการเปรียบเทียบมักนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่ดีมากกว่าผลลัพธ์ที่ดี หากพ่อแม่เอาแต่บอกว่าลูกคนอื่นพูดเก่ง อาจเป็นการกดดันลูกจนไม่กล้าพูดออกมาก หรือหากพ่อแม่เอาแต่ชมเชยว่าลูกตัวเองพูดเก่ง อาจเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการดูถูกคนอื่นให้กับลูกอย่างไม่รู้ตัวได้


แน่นอนว่าการกระตุ้นลูกให้สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดผลได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน แต่ต้องอาศัยช่วงเวลาระยะหนึ่งเลยทีเดียว แต่วิธีที่ดูน่าจะใช้ได้ดีและง่ายมากที่สุดก็คือการที่พ่อแม่หมั่นพูดคุยและซักถามลูกบ่อยๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาแต่พูดเรื่องเรียนเท่านั้น แต่แนะนำให้หมั่นเอาสิ่งที่ลูกชอบมาเปิดประเด็นในการพูดก็ช่วยแก้ปัญหาลูกพูดช้าหรือไม่ยอมพูดได้เช่นเดียวกัน


ที่มา : https://www.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น