5 ขั้นตอน "ห้ามเลือด" อย่างไรให้ถูกวิธี - HotNews

5 ขั้นตอน "ห้ามเลือด" อย่างไรให้ถูกวิธี

 



ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การห้ามเลือดให้ถูกวิธีสำคัญมาก ช่วยลดการสูญเสียอวัยวะ และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้

สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งสติ และประเมินสถานการณ์ จากนั้นจึงเข้าช่วยห้ามเลือด เพื่อลดการสูญเสียอวัยวะ และลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากเกินไป

วิธีห้ามเลือดที่ถูกต้อง

  1. หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณใด และประเมินว่าเลือกออกมากถึงระดับไหน

  2. หากบาดแผลเล็กๆ เลือดหยุดไหลแล้ว ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด และทายาฆ่าเชื้อ

  3. หากเป็นบาดแผลฉีกขาด มีเลือดออกพอสมควร ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดลงบนแผลตรงๆ ใช้มือกดนิ่งๆ ตรงบริเวณที่เลือดออกไว้ตลอด ระยะเวลาประมาณ 5 นาที จะทำให้หลอดเลือดหด และสามารถห้ามเลือดได้ ใช้แรงกดเหมือนเราพยายามกดให้ถึงกระดูก และระหว่างกดแผลห้ามแง้มเปิดมาดูเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดฉีดขาด เลือดหยุดไหลช้าลงได้ กดแผลไว้จนกว่าเลือดจะหยุดซึมออกมาบนผ้า ถ้าเลือกยังไม่หยุดไหล ยังซึมออกมาอย่างต่อเนื่อง ให้หาผ้าสะอาดอีกผืนมากดทับผ้าเดิม โดยไม่ต้องเอาผ้าเดิมออก แล้วกดแผลต่อไป ถ้าเลือดหยุดไหลแล้ว สามารถหาผ้ายืดมารัดป้องกันแผลเลือดไหลอีกครั้งได้

  4. หากผู้ได้รับบาดเจ็บมีแผลใหญ่ เลือดออกมาก ให้ใช้ผ้าสะอาดอัดเข้าไปตรงบริเวณนั้น และใช้มือกดลงไปเพื่อห้ามเลือดอีกครั้ง

  5. ถ้าเป็นบาดแผลที่เลือดออกมาก อาจใช้วิธีขันชะเนาะ โดยหาผ้าหรือเชือกนิ่มๆ มารัดเหนือบาดแผลราว 1 ฝ่ามือ ใช้ปากกาหรือแท่งด้ามเหล็กแข็งและทนทาน สอดเข้าไปในผ้า แล้วหมุนให้แน่นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ล็อกตำแหน่งเอาไว้ไม่ให้ผ้าหลุด อย่าลืมจดเวลาไว้ด้วยว่าเริ่มขันชะเนาะในเวลากี่โมง จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเมื่อไปโรงพยาบาล และห้ามคลายผ้าที่ทำการขันชะเนาะเอง ต้องให้แพทย์คลายผ้าในห้องผ่าตัด แต่วิธีนี้หากทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงควรเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือผ่านเบอร์โทรสายด่วน 1669 จะดีที่สุด

การใช้ผ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาห้ามเลือด ต้องสะอาดมากเพียงพอที่จะไม่ทำให้บาดแผลติดเชื้อในภายหลัง การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าเรารู้วิธีการปฐมพยาบาล และห้ามเลือกที่ถูกต้อง จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น



ขอขอบคุณ

ข้อมูล :ผศ.นพ.กฤตยา กฤตยากีรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทช,อ.พญ.กษมณฑ์ อร่ามวาณิชย์ หัวหน้าสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

ที่มา : https://www.sanook.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น