น่าจะไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยได้ยินหรืออ่านบทความกันมาว่า “ปัสสาวะ” ของตัวเอง สามารถดื่มเพื่อบรรเทาอาการ หรือรักษาโรคบางอย่างได้ จริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน Sanook Health มีคำตอบมาฝากกัน
ปัสสาวะ คืออะไร?
ปัสสาวะ คือของเสียที่เป็นของเหลวปริมาณมาก ที่สุดที่ถูกขับออกมาจากร่างกายผ่านกระบวนการทำงานของไต โดยธรรมชาติปัสสาวะของคนเวลาถ่ายใหม่ๆ จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ก่อน แต่พอทิ้งให้อยู่ในสภาพที่มีอากาศประมาณ 5-6 ชั่วโมง ปัสสาวะจะกลายเป็นด่าง เริ่มมีกลิ่น เพราะยูเรียในปัสสาวะจะถูกเปลี่ยนเป็นก๊าซแอมโมเนีย (NH3) สําหรับก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากปัสสาวะจะเป็นก๊าซไม่มีสี และมีกลิ่นฉุน
ส่วนประกอบของปัสสาวะ
ปัสสาวะประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 95 ยูเรียร้อยละ 2 ที่เหลือเป็นสารอื่นๆ ได้แก่ น้ำตาล โซเดียม คลอไรด์ แคลเซียม และแมกนีเซียม เป็นต้น
ดื่ม "ปัสสาวะ" รักษาโรคได้จริงหรือไม่?
ข้อมูลจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ระบุว่า มีการรายงานน้ำปัสสาวะรักษาอาการปวดข้อ ไมเกรน ภูมิแพ้ โรคเอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ แผลไฟไหม้ เบาหวาน มะเร็งลําไส้ใหญ่ ทารักษาเชื้อราตามผิวหนัง สวนล้างช่องคลอดแก้อาการตกขาว รักษาอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดไมเกรน ปวดเมื่อยไม่มีสาเหตุ รักษาโรคภูมิแพ้ ผื่นคัน สะเก็ดเงิน มะเร็ง ลําไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ใช้ผ้าชุบน้ำปัสสาวะปิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ชาวจีนมีความเชื่อว่า ดื่มน้ำปัสสาวะเด็กผู้ชายสําหรับคนอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
หลักการแพทย์พื้นบ้านไทย ใช้น้ำปัสสาวะเป็นยาดองเพื่อปรุงโอสถ เช่น ดองสมอไทย สมอภิเพก มะขามป้อม เป็นยาอายุวัฒนะ
อย่างไรก็ตาม ปัสสาวะบําบัดโรค ยังไม่ได้รับการรับรองผลจากงานวิจัยที่ชัดเจนมากเพียงพอที่จะนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้อย่างจริงจัง ผู้ที่มีโรคประจําตัว เช่น เบาหวาน มะเร็ง ต้องรักษาด้วยการแพทย์ปัจจุบัน
ทางด้านของ เภสัชกรหญิง อภิษฐา ทรัพย์ประเสริฐ (หมอแอ๋ม) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ในเมื่อน้ำปัสสาวะ คือของเหลวที่เป็นของเสียที่ร่างกายขับออกมา การที่ไตของเราขับของเสียออกมาแล้ว เรายังดื่มกลับเข้าไปในร่างกายใหม่อีกครั้ง อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคไต โรคหืด โรคเบาหวาน และสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไต ที่ต้องรักษาสมดุลของน้ำ และแร่ธาตุ การได้รับสารของเสียต่างๆ กลับเข้าไปในร่างกายอีกครั้ง อาจทำให้โรคลุกลาม และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องจะดีกว่า
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย,เภสัชกรหญิง อภิษฐา ทรัพย์ประเสริฐ (หมอแอ๋ม) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น